มาดูระบบการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น ว่าเป็นอย่างไร

หากจะมีประเทศไหนสักแห่งที่เราอยากจะย้ายไป ส่วนตัวยอมรับเลยว่าเติบโตมากับวัฒนธรรมญี่ปุ่นผ่านสื่อต่างๆมากมาย เลยอยากจะย้ายไปที่ประเทศญี่ปุ่น เห็นความมีวินัย มีระเบียบ แล้วต้องทึ่งจริงๆ อย่างไรก็ตามการฝึกคนให้ได้อย่างนั้นมันต้องมาจากที่บ้าน และระบบการศึกษาที่โรงเรียนในประเทศญี่ปุ่นด้วย ทีนี้เรามาดูกันว่าหากเราจะย้ายไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น ระบบการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นจะมีหน้าตาอย่างไร เหมือน หรือ แตกต่างจากของไทยตรงไหนบ้าง

ระบบการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น

ต้องเล่าก่อนว่า ระบบการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นนั้น ไม่ได้แตกต่างจากของไทยมากนัก มีเพียงแค่รายละเอียดเล็กๆน้อยๆในชั้นสูงๆเท่านั้นที่เค้าแตกต่างจากเรา แต่ทั้งหมดก็จะไม่แตกต่าง อย่างแรกเลยระบบการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นเค้าจะมีระบบการศึกษาภาคบังคับที่จะให้เด็กทุกคนต้องได้เรียน ซึ่งใช้เวลาโดยประมาณ 12 ปี (อันนี้เหมือนบ้านเรา) แต่ถ้าใครจะต่อยอดไปมากกว่านั้นก็ตามความพอใจและสนใจของผู้เรียนเอง ระบบการศึกษาของญี่ปุ่นแบ่งออกเป็นระดับดังนี้

การศึกษาระดับต้น

การศึกษาของญี่ปุ่น จะเริ่มต้นจากชั้นอนุบาล ที่นั่นเค้าให้เด็กเข้าเรียนในระดับอนุบาลตั้งแต่อายุ 3 ปี เรียนจนถึง 5 ปี จากนั้นก็จะเข้าสู่ระบบการศึกษาชั้นประถมศึกษา ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ปี (ชั้นป.1-6 เหมือนบ้านเรา) ก็จะนับว่าจบการศึกษาระดับต้นเป็นที่เรียบร้อย

การศึกษาระดับกลาง

เมื่อจบแล้วจะเข้าสู่ระบบการศึกษาระดับกลาง ตรงนี้เหมือนของไทยเราเป๊ะเลย นั่นก็คือจะใช้เวลาทั้งหมด 6 ปี แบ่งออกเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี และ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี ตรงนี้มีจุดที่ขยายความเพิ่มเล็กน้อยก็คือว่า การศึกษาภาคบังคับของเค้าจะสิ้นสุดตรงจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เหมือนของบ้านเรา ใครจบม.สามแล้วจะต่อหรือไม่ต่อก็ตามความพอใจ

การศึกษาระดับสูง

แต่ถ้าเราจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ การศึกษาระดับกลางไปแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการศึกษาระดับสูง ซึ่งจะเป็นการศึกษาในมหาวิทยาลัย วิทยาลัย วิทยาลัยเทคนิค หรือ วิทยาลัยอาชีวศึกษา ตรงนี้แตกต่างกับบ้านเราที่การเข้าเรียนวิทยาลัยบางแห่งอาจจะแยกสายไปตั้งแต่จบม.3 ได้เลย

การเรียนในระดับมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่น จะเหมือนของไทยเราตรงที่ระดับปริญญาตรีจะกำหนดเวลาขั้นต่ำเอาไว้ที่ 4 ปี ระดับปริญญาโท 2 ปี และระดับปริญญาเอก 3 ปี (ใครจะเรียนมากกว่านั้นก็ได้ แต่ก็มีการกำหนดกรอบเวลาไว้อยู่ว่าไม่ควรเกินเท่าไรในแต่ละหลักสูตร)

ตรงนี้มีเกร็ดเล็กน่าสนใจรงที่ว่า ความสนใจของเด็กญี่ปุ่นในการเรียนต่อในระดับสูงนั้น ส่วนใหญ่มักจะเทไปทางการเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยมากกว่า ส่วนระดับวิทยาลัย วิทยาลัยเทคนิค อาชีวศึกษามีน้อยมาก เพียงแค่ หนึ่งในสี่เท่านั้นเอง

นโยบายเปิดรับ

เอาเข้าจริงประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับคนที่ต้องการศึกษาต่อในระดับสูงอย่างน่าสนใจเลยทีเดียว เพราะว่าประเทศญี่ปุ่นได้มีนโยบายเปิดรับนักศึกษาจากต่างประเทศมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2526 โน่นเลย นับจนถึงตอนนี้มีคนไทยไปเรียนที่ญี่ปุ่นหลายพันคนแล้วเหมือนกัน นอกจากนั้นญี่ปุ่นยังได้มีการออกนโยบายส่งเสริมการมาเรียนของคนต่างประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นการกระจายศูนย์ข้อมูลไปทั่วทวีปเพื่อเป็นการเชิญชวนให้คนมาเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นให้มากขึ้น , การมอบทุนการศึกษาสำหรับคนที่เรียนดี ตอนไปศึกษาในญี่ปุ่น, การลดค่าเล่าเรียนบางส่วน, การช่วยเหลือด้านความเป็นอยู่ , การเพิ่มหลักสูตรนานาชาติที่เน้นการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ เป็นต้น หากใครที่คิดว่าอยากจะไปเรียนต่อต่างประเทศที่อยู่ในเอเชีย ไม่ต้องบินไปไกลถึงฝั่งยุโรป หรือ อเมริกา ประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นปลายทางที่น่าไปมากจริงๆ