การศึกษา

มาทำความรู้จักกับ ทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ

เทคนิคการเรียนการสอนในปัจจุบันนี้นั้น มีมากมายหลายแบบ ซึ่งในแต่ละแบบก็ให้ผลที่ต่างกัน ในปัจจุบันนี้เป็นยุคที่ทุกคนสามารถหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง ผ่านทางอินเทอร์เน็ตหรือการซื้อหนังสือมาอ่าน เพราะฉะนั้นระบบการเรียน-การสอนจึงต้องมีการปรับปรุง เพื่อให้การเรียนในห้องเรียนนั้นมีความน่าสนใจมากกว่าการเรียนในอินเทอร์เน็ต หรือการเรียนที่นั่งท่องจำไปวันๆ สำหรับวันนี้เราจะมาแนะนำอีกหนึ่งทฤษฎีการเรียน ที่ได้รับการยอมรับในการสอนสมัยใหม่ ซึ่งทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจและกระตือรือร้น ในการเรียนเพิ่มมากขึ้น นั่นก็คือทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ

การเรียนสมัยใหม่ ต้องกระตุ้นความคิด

หนึ่งในเทคนิคการเรียนการสอน ที่หลักสูตรการศึกษาผลักดัน ก็คือ การเรียน-การสอน ที่มุ่งเน้นความสำคัญไปที่ผู้เรียนเป็นอันดับ 1 ซึ่งวิธีนี้จะช่วยพัฒนาผู้เรียนในหลายๆ ด้านไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นด้านจิตพิสัย, ทักษะพิสัย,พุทธิพิสัย ซึ่งการสอนแบบร่วมมือนี้ เหมาะกับการเรียนการสอนที่มีการแบ่งผู้เรียนจากกลุ่มใหญ่ ให้เป็นกลุ่มย่อยหลายๆ เพื่อให้การเรียนการสอนมีความทั่วถึง และผู้เรียนทุกคนก็จะได้แสดงความคิดเห็นออกมา ซึ่งทฤษฎีนี้เป็นหนึ่งในทฤษฎีที่ช่วยพัฒนาผู้เรียนได้เป็นอย่างมาก

องค์ประกอบที่สำคัญในการเรียนรู้แบบร่วมมือ ได้แก่…

สร้างความสัมพันธ์ในเชิงบวก

เพราะสมาชิกกลุ่มย่อย จะทำให้มีความผูกพันกันมากกว่าสมาชิกกลุ่มในระดับใหญ่ จึงทำให้มองเห็นการมีเป้าหมายร่วมกันสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสามารถพูดคุยกันได้ทันที อีกทั้งยังมีการแบ่งปันอุปกรณ์, วัสดุข้อมูลต่างๆ ในการทำงาน จัดเป็นการกระตุ้นลักษณะนิสัยแห่งการเอื้อเฟื้อ นอกจากนี้ถึงแม้ทุกคนจะมีหน้าที่ที่ต่างกันไปตามความถนัด แต่สุดท้ายแล้วทุกคนก็จะได้รับความสำเร็จร่วมกันในฐานะงานกลุ่ม และสมาชิกทุกคนก็จะได้รับผลประโยชน์โดยเท่าเทียมกัน ทำให้ไม่มีใครมีความรู้สึกว่าด้อยหรือเด่นไปกว่าใคร เพราะทุกคนมีความเป็น Team Work อยู่ข้างในจิตใจ

มีการปฏิสัมพันธ์ส่งเสริมซึ่งกันและกัน

ในกลุ่ม 1 กลุ่ม จะต้องประกอบด้วยสมาชิกที่มีข้อดีแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะไม่ทำให้มีสมาชิกกลุ่มใดคนใดคนหนึ่ง เกิดความรู้สึกว่าตัวเองถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เมื่อคนๆ หนึ่งทราบข้อมูล ก็จะมีการนำข้อมูลนั้นมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน อธิบายความรู้ให้เพื่อนฟัง อีกทั้งยังเป็นการเปิดให้เพื่อนสมาชิก เสนอแนวทางความคิดใหม่ๆ และเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับงานนั้นที่สุดขึ้นมา

ความรับผิดชอบ

ในกรณีที่นักเรียนคนหนึ่ง ได้รับมอบหมายงานใดงานหนึ่งไปทำเพียงคนเดียว บางครั้งเขาก็อาจจะมีความรู้สึกว่า ไม่ต้องทำก็ได้เพราะสุดท้ายแล้วถ้าโดนลงโทษเขาก็โดนคนเดียว แต่สำหรับทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือนี้ คือ การทำงานเป็นกลุ่มเพราะฉะนั้นถ้าฟันเฟืองตัวใด ทำงานไม่เต็มที่หรือหยุดทำงาน ฟันเฟืองตัวอื่นก็จะหยุดทำงานไปด้วย เพราะฉะนั้นก็จะเป็นการปลูกฝังความรับผิดชอบ เพื่อแสดงถึงการทำงานในส่วนรวม ที่ไม่มีการเห็นแก่ตัวและมีความขยันมุมานะ ถ้าเกิดปัญหาติดขัดอะไรขึ้นมา ด้วยความที่ทำงานเป็นสมาชิกกลุ่ม ก็จะสามารถขอความช่วยเหลือจากเพื่อนสมาชิกได้ โดยที่เพื่อนสมาชิกก็จะช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ เพื่อให้งานโดยรวมงานออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด

สรุปแล้ว การเรียนรู้แบบร่วมมือนี้มีประสิทธิภาพ เพราะจัดเป็นการเรียนที่ดึงศักยภาพของนักเรียนแต่ละคนออกมาสูงสุดช่วยกระตุ้นความร่วมมือของนักเรียน ให้สนิทสนมกลมเกลียวกัน ทำให้เกิดการวิเคราะห์และแสดงทัศนคติส่วนตัวออกมาซึ่งจะทำให้ผู้อาจารย์ทราบว่าหลักสูตรผู้เรียนแต่ละคนนั้น มีจุดอ่อนหรือจุดแข็งตรงไหน และเมื่อทราบแล้วก็จะได้หาแนวทางในการแก้ไขปัญหา ให้เหมาะสมกับแต่ละคนและพัฒนาสืบต่อไป